แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย

        

ความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขและองค์ประกอบของสุขภาพจิต

  ความหมายของความสุข

  ความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขและองค์ประกอบของสุขภาพจิต

หน้าหลักสืบค้น

 

            กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยขึ้น  เพื่อเป็นแนวทางการนำไปสู่นโยบายในการพัฒนาสุขภาพคนไทยให้มีสุขภาพจิตดี  ให้ประชาชนได้ใช้แบบทดสอบนี้  เพื่อตระหนักในระดับความสุขของตนเอง  ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเองในระดับหนึ่ง  อันจะส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยทางจิตตั้งแต่ระยะเริ่มแรกลดลง  และส่งผลให้ประชากรไทยได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองในการดำเนินชีวิตในชุมชน  อันจะส่งผลให้สังคมไทยมีความสุขเพิ่มขึ้นสืบไป
มีผู้ให้ความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขไว้ดังนี้
            อภิชัย  มงคล  และคนอื่น ๆ (2544ข,  หน้า  7)  ให้ความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยว่าเป็นแบบวัดความสุขที่สร้างขึ้นเพื่อประเมินภาวะความสุขของบุคคลโดยพัฒนามาจากกรอบแนวคิดของความหมายของสุขภาพจิต  ดังนี้

  1. ความหมายของสุขภาพจิต  (ในระดับบุคคล)

                  หมายถึง  สภาพชีวิตที่เป็นสุข  อันเป็นผลมาจากมีความสามารถในการจัดการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต  มีศักยภาพจะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยครอบคลุมถึงความดีภายในจิตใจ  ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
จากความหมายของสุขภาพจิตดังกล่าวข้างต้น  ได้แบ่งองค์ประกอบหลักของผู้มีสุขภาพจิตดีออกเป็น  4  องค์ประกอบหลัก  คือ

    1. สภาพจิตใจ
    2. สมรรถภาพของจิตใจ
    3. คุณภาพของจิตใจ
    4. ปัจจัยสนับสนุน
  1. องค์ประกอบหลักของสุขภาพจิต

                  องค์ประกอบที่  1  สภาพจิตใจ
                  นำแนวคิดมาจาก  เสลล์และเนกพอล (อ้างถึงใน อภิชัย  มงคล  และคนอื่นๆ,  2544ข,  หน้า 7)  ในด้านความรู้สึกเป็นสุข  อารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบและดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยทางจิต  เนื่องจากเป้าหมายของคนคือความผาสุกโดยการวัดความทุกข์หรือสุขของบุคคลว่ามีมากน้อยเพียงใด  โดยวัดจากความรู้สึก  อารมณ์  ความคิด  พฤติกรรมว่าในปัจจุบันเป็นอย่างไรมีโรคหรือมีอาการของโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นหรือไม่  เป็นการวัด ณ ปัจจุบัน
                  อัมพร  โอตระกูล (2538)  ซึ่งกล่าวถึงการประเมินสุขภาพจิตว่าประกอบด้วย  3  องค์ประกอบ  และองค์ประกอบหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับองค์ประกอบนี้  คือ  การรับรู้ทางความคิด  การแสดงออกทางอารมณ์  และการกระทำที่ตอบสนองต่อตนเอง
                  Jahoda (อ้างถึงใน  อภิชัย  มงคล  และคนอื่น ๆ, 2544ข,  หน้า 8)  มีแนวคิดว่าการประเมินสุขภาพจิตของคนทั่วไปให้พิจารณาจากทัศนคติของบุคคลที่มีต่อตนเองและแบบวัดคุณภาพชีวิต  ซึ่งมีแนวคิดว่าคุณภาพชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทางร่างกาย  คือ  การรับรู้สภาพร่างกายของบุคคลซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

                 องค์ประกอบที่  2  สมรรถภาพของจิตใจ
สมรรถภาพของจิตใจ  เป็นการมองในเรื่อง  ความสามารถใจการแก้ปัญหาซึ่งนำแนวคิดมาจากองค์การอนามัยโลก  ที่เกี่ยวกับลักษณะทางด้านจิตใจของสุขภาพจิตของสมรรถภาพ  หมายถึง  ความสามารถในการเผชิญปัญหา  หรือสมรรถภาพในการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต  ที่สำคัญมีอยู่  3  ด้าน  คือ

    1. ปัญหาการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น  สร้างความสัมพันธ์และธำรงรักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น
    2. ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมหรือสังคมภายนอกที่มากดดัน  มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ได้ในสถานการณ์นั้น ๆ และถ้าให้ดีคืออยู่ได้อย่างมีผลผลิตของงานด้วย  มีคุณค่า  สร้างประโยชน์ได้  ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลที่จะอยู่ได้ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
    3. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของตนเอง  มุ่งไปที่ความต้องการตามสัญชาตญาณของมนุษย์หรือความต้องการพื้นฐานของคนเราเกิดความขัดแย้งกันเป็นการดูว่าจิตใจสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ระหว่างความต้องการที่เกิดขึ้นกับความขัดแย้งในใจ  มีผลออกมาอย่างราบรื่น  เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาที่สำคัญในการดำเนินชีวิต

                  องค์ประกอบที่  3  คุณภาพของจิตใจ
คุณภาพของจิตใจ  คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  โดยมุ่งเน้นให้เป็นคนดีคนเก่ง  เป็นคนที่มีความสุขซึ่งเป็นลักษณะทางจิตใจที่สำคัญหรือหมายถึง  คุณภาพของจิตใจนั่นเอง  สำหรับองค์ประกอบที่  3  นี้นำแนวคิดมาจากองค์การอนามัยโลกและ Jahoda (อ้างถึงใน  อภิชัย  มงคล  และคนอื่น ๆ ,  2544ข, หน้า 8)  ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตดี  คือมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง  ต้องการทำตนให้เป็นประโยชน์  บุคลิกภาพผสมผสานกันดี มีความเป็นตัวเอง  มีการดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์เป็นต้น  สำหรับคุณภาพของจิตใจ  ทำให้เกิด

  1. ความสัมพันธ์ที่ดี  สามารถทำให้บุคคลอื่นชอบเราได้  เป็นคนที่ดี  ทำให้คนอื่นมองว่าเป็นคนดีเป็นความสามารถที่มีมากกว่า  องค์ประกอบ 2  คือ  สามารถช่วยเหลือบุคคลอื่น ๆ ได้  เป็นคุณลักษณะที่ไม่ใช่มองแต่ตนเองยังมองถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย  คือ  การอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นอย่างมีคุณภาพ
  2. อยู่ในสังคมอย่างสร้างสรรค์  มีความกระตือรือร้น  มีความมุ่งมั่นในการสร้างผลประโยชน์  สร้างงาน  สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ทำให้ตนเองก้าวหน้า  มีคุณสมบัติและแรงจูงใจที่จะทำให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  3. มีคุณลักษณะที่เสริมสร้างความสุขให้แก่ตนเอง  ตั้งแต่การดำเนินชีวิตอย่างราบเรียบหรือพึงพอใจในความเป็นอยู่ของตนเอง  มีความสุขร่วมกับผู้อื่น  สุขสงบในใจตนเอง

                  องค์ประกอบที่  4  ปัจจัยสนับสนุน
ปัจจัยสนับสนุน  ได้แนวคิดมาจากความผาสุกของบุคคล  (subjective well-being)  และคุณภาพชีวิต  (quality of life)  ซึ่งมองว่าบุคคลจะมีการรับรู้เกี่ยวกับบุคคลแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อจิตใจและการดำเนินชีวิต  เช่น  รับรู้ว่า  เมื่อมีปัญหาบุคคลแวดล้อมสามารถช่วยเหลือตนเองให้รู้สึกปลอดภัย  มั่นคงในชีวิต  มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพดี  มีสถานบริการสุขภาพ  มีกิจกรรมสันทนาการและมีเวลาว่าง มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 องค์ประกอบแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเองทั้งสิ้น  แต่ความสุขหรือทุกข์ไม่ได้เกิดจากตนเพียงอย่างเดียว  แต่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมากระทบด้วย  จึงเกิดองค์ประกอบที่  4  ขึ้น
จากความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขและองค์ประกอบของสุขภาพจิตข้างต้นสรุปได้ว่า  ดัชนีชี้วัดความสุขจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าบุคคลเป็นผู้มีสุขภาพจิตดีหรือไม่เพียงใด และองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตของบุคคล ได้แก่ ลักษณะของความสุข  ความทุกข์ในปัจจุบัน การยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่  อันได้แก่สภาวะสุขภาพของตนเอง  ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย  และจิตใจ  ตลอดจนการยอมรับในภาพลักษณ์และรูปร่างของตนเอง  มีความสามารถในการแก้ปัญหา   เพื่อที่จะกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและ มีคุณภาพ  ลักษณะต่าง ๆ ที่ทำให้การดำเนินชีวิตมีคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพจิต  ซึ่งช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น และความสุขไม่ได้เกิดจากตนเองเพียงอย่างเดียว  แต่เกิดจากสิ่งแวดล้อมมากกระทบด้วย

 

 

 

อ้างอิงจาก

อภิชัย  มงคล และคนอื่นๆ. (2544ข). รายงานวิจัยการศึกษาดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย. ขอนแก่น: โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.

อัมพร  โอตระกูล. (2538). สุขภาพจิต. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิทยพัฒน์.